ญี่ปุ่น (ญี่ปุ่น: 日本 Nihon/Nippon นิฮง/นิปปง ?) มีชื่อทางการคือประเทศญี่ปุ่น (ญี่ปุ่น: 日本国 Nihon-koku/Nippon-koku นิฮงโกะกุ/นิปปงโกะกุ ?) เป็นประเทศหมู่เกาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ทางตะวันตกติดกับคาบสมุทรเกาหลี และสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีทะเลญี่ปุ่นกั้น ส่วนทางทิศเหนือ ติดกับประเทศรัสเซีย มีทะเลโอค็อตสค์ เป็นเส้นแบ่งแดน ตัวอักษรคันจิของชื่อญี่ปุ่นแปลว่าถิ่นกำเนิดของดวงอาทิตย์ จึงทำให้บางครั้งถูกเรียกว่าดินแดนแห่งอาทิตย์อุทัย

ญี่ปุ่นมีเนื้อที่กว่า 377,930 ตารางกิโลเมตร นับเป็นอันดับที่ 61 ของโลก หมู่เกาะญี่ปุ่นประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่กว่า 3,000 เกาะ เกาะที่ใหญ่ที่สุดก็คือเกาะฮนชู ฮกไกโด คีวชู และชิโกะกุ ตามลำดับ เกาะของญี่ปุ่นส่วนมากจะเป็นหมู่เกาะภูเขา ซึ่งในนั้นมีจำนวนหนึ่งเป็นภูเขาไฟ เช่นภูเขาไฟฟูจิ ภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศ เป็นต้น ประชากรของญี่ปุ่นนั้นมีมากเป็นอันดับที่ 10 ของโลก คือประมาณ 128 ล้านคน เมืองหลวงของญี่ปุ่นคือกรุงโตเกียว ซึ่งถ้ารวมบริเวณปริมณฑลเข้าไปด้วยแล้วจะกลายเป็นเขตเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มีประชากรอยู่อาศัยมากกว่า 30 ล้านคน

สันนิษฐานว่ามนุษย์มาอาศัยในญี่ปุ่นครั้งแรกตั้งแต่ยุคหินเก่า การกล่าวถึงญี่ปุ่นครั้งแรกปรากฏขึ้นในบันทึกของราชสำนักจีนตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1 ญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากจีนในหลายด้าน เช่นภาษา การปกครองและวัฒนธรรม แต่ในขณะเดียวกันก็มีการปรับเปลี่ยนให้เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง จึงทำให้ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมที่โดดเด่นมาจนปัจจุบัน อีกหลายศตวรรษต่อมา ญี่ปุ่นก็รับเอาเทคโนโลยีตะวันตกและนำมาพัฒนาประเทศจนกลายเป็นประเทศที่ก้าวหน้าและมีอิทธิพลมากที่สุดในเอเชียตะวันออก หลังจากแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นก็มีการเปลี่ยนแปลงทางการปกครองโดยการใช้รัฐธรรมนูญใหม่ใน พ.ศ. 2490

ญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจ โดยมีจีดีพีสูงเป็นอันดับสามของโลกในปี พ.ศ. 2553[9] ญี่ปุ่นเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ จี 8 โออีซีดี และเอเปค และมีความตื่นตัวที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของต่างประเทศ ญี่ปุ่นมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดี

ชื่อประเทศญี่ปุ่น

ในภาษาญี่ปุ่น ชื่อ ประเทศญี่ปุ่น เรียกว่า นิปปง (にっぽん) หรือ นิฮง (にほん) ซึ่งใช้คันจิตัวเดียวกันคือ 日本 คำว่านิปปง มักใช้ในกรณีที่เป็นทางการ ส่วนคำว่า นิฮง จะเป็นศัพท์ที่ใช้โดยทั่วไป

สันนิษฐานว่าประเทศญี่ปุ่นเริ่มต้นใช้ชื่อประเทศว่า “นิฮง/นิปปง (日本) ” ตั้งแต่ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 12 จนถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 13 ตัวอักษรคันจิของชื่อญี่ปุ่นแปลว่าถิ่นกำเนิดของดวงอาทิตย์ และทำให้ญี่ปุ่นมักถูกเรียกว่าดินแดนแห่งอาทิตย์อุทัย ชื่อนี้เกิดขึ้นในช่วงที่มีการติดต่อกับราชวงศ์สุยของจีนและหมายถึงการที่ญี่ปุ่นอยู่ในทิศตะวันออกของจีน ก่อนที่ญี่ปุ่นจะมีความสัมพันธ์กับจีน ญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักในชื่อยะมะโตะ

ชื่อเรียกประเทศญี่ปุ่นในภาษาอื่น ๆ เช่น เจแปน (อังกฤษ: Japan), ยาพัน (เยอรมัน: Japan),  ฌาปง (ฝรั่งเศส: Japon),  ฆาปอน (สเปน: Japón)  รวมถึงคำว่าญี่ปุ่น ในภาษาไทย น่าจะมาจากภาษาจีนฮกเกี้ยนหรือแต้จิ๋วที่ออกเสียงว่า “ยิดปุ่น” (ฮกเกี้ยน) หรือ “หยิกปึ้ง” (แต้จิ๋ว) ทั้งหมดล้วนแต่เป็นคำที่ถอดเสียงมาจากคำอ่านตัวอักษรจีน 日本国 ซึ่งอ่านว่า “จีปังกู” แต่ในสำเนียงแมนดารินอ่านว่า รื่อเปิ่นกั๋ว (จีน: 日本国; พินอิน: Rìběn’guó) หรือย่อ ๆ ว่า รื่อเปิ่น (จีน: 日本; พินอิน: Rìběn)  ส่วนในภาษาที่ใช้ตัวอักษรจีนอื่น ๆ เช่นภาษาเกาหลี ออกเสียงว่า “อิลบน” (เกาหลี: 일본; 日本 Ilbon)  และภาษาเวียดนาม ที่ออกเสียงว่า “เหญิ่ตบ๋าน” (เวียดนาม: Nhật Bản, 日本) [19] จะเรียกประเทศญี่ปุ่นโดยออกเสียงคำว่า 日本 ด้วยภาษาของตนเอง

ประวัติศาสตร์ ญี่ปุ่น

ยุคโบราณ

สันนิษฐานว่ามนุษย์มาอาศัยในญี่ปุ่นครั้งแรกตั้งแต่ยุคหินเก่า เมื่อประมาณ 35,000 ปีก่อนพุทธศักราช หลังจากนั้นยุคโจมงก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 10,000 ปีก่อนพุทธศักราช ผู้คนดำรงชีวิตอยู่ด้วยการล่าสัตว์ มีการพัฒนาวิธีการล่าสัตว์โดยใช้คันธนูและลูกธนู ตลอดจนมีการผลิตภาชนะเครื่องปั้นดินเผาใส่อาหารและเก็บรักษาอาหาร คำว่าโจมงในภาษาญี่ปุ่นแปลว่าลายเชือกซึ่งมาจากลวดลายเชือกบนภาชนะในยุคนั้นที่ค้นพบในช่วงแรก

ยุคยะโยะอิ เริ่มเมื่อประมาณ 300 ปีก่อนคริสต์ศักราช เป็นยุคที่ผู้คนเริ่มเรียนรู้วิธีการปลูกข้าว การตีโลหะ ซึ่งได้รับความรู้มาจากผู้อพยพชาวจีนแผ่นดินใหญ่ การกล่าวถึงญี่ปุ่นครั้งแรกปรากฏขึ้นในบันทึกของราชสำนักจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น โฮ่วฮั่นชู (後漢書) ในปี 57 ก่อนคริสตกาล  ซึ่งเรียกชาวญี่ปุ่นว่า วะ (倭) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 8 อาณาจักรที่ทรงอำนาจมากที่สุดในญี่ปุ่นคือยะมะไทโคะกุ (邪馬台国) ปกครองโดยพระนางฮิมิโกะ ซึ่งเคยส่งคณะทูตไปยังประเทศจีนผ่านทางเกาหลีด้วย

ยุคแรกเริ่มอารยธรรม ญี่ปุ่น

ยุคโคะฟุง ซึ่งตั้งชื่อตามสุสานที่นิยมสร้างขึ้นกันในยุคดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 9 จนถึง 12 เป็นยุคที่ญี่ปุ่นเริ่มมีการปกครองแบบราชวงศ์ ซึ่งศูนย์กลางการปกครองนั้นอยู่บริเวณภาคคันไซ ในยุคนี้พระพุทธศาสนาได้เข้ามาจากคาบสมุทรเกาหลีสู่หมู่เกาะญี่ปุ่น แต่พระพุทธรูปและพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่นหลังจากนั้นได้รับอิทธิพลจากจีนเป็นหลัก เจ้าชายโชโตะกุทรงส่งคณะราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับจีน ญี่ปุ่นจึงได้รับนวัตกรรมจากแผ่นดินใหญ่มาเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังทรงตรารัฐธรรมนูญสิบเจ็ดมาตรา ซึ่งเป็นกฎหมายญี่ปุ่นฉบับแรกอีกด้วย และในที่สุดพระพุทธศาสนาก็ได้รับการยอมรับมากขึ้นตั้งแต่สมัยอะซึกะ

ยุคนะระ (พ.ศ. 1253-1337)  เป็นยุคแรกที่มีการก่อตัวเป็นอาณาจักรที่เข้มแข็ง มีการปกครองอย่างมีระบบให้เห็นได้อย่างชัดเจน โดยการนำระบอบการปกครองมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ศูนย์กลางการปกครองในขณะนั้นก็คือเฮโจเกียวหรือจังหวัดนะระในปัจจุบัน ในยุคนะระเริ่มพบการเขียนวรรณกรรมเช่นโคะจิกิ (พ.ศ. 1255) และนิฮงโชะกิ (พ.ศ. 1263)  เมืองหลวงถูกย้ายไปที่นะงะโอกะเกียวเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ และถูกย้ายอีกครั้งไปยังเฮอังเกียว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของยุคเฮอัง

ระหว่าง พ.ศ. 1337 จนถึง พ.ศ. 1728 ซึ่งเป็นยุคเฮอังนั้น ถือได้ว่าเป็นยุคทองของญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นยุคสมัยที่วัฒนธรรมของญี่ปุ่นเองเริ่มพัฒนาขึ้น สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดมากที่สุดคือ การประดิษฐ์ตัวอักษร ฮิระงะนะ ซึ่งทำให้เกิดวรรณกรรมที่แต่งโดยตัวอักษรนี้เป็นจำนวนมาก เช่นในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 16 ได้มีการแต่งนวนิยายเรื่องนิทานเก็นจิ (源氏物語) ขึ้น ซึ่งเป็นนิยายที่บรรยายเกี่ยวกับการใช้ชีวิต การปกครองของตระกูลฟุจิวะระ และบทกลอนที่ถูกใช้เป็นเนื้อเพลงของเพลงชาติญี่ปุ่น คิมิงะโยะ ก็ถูกแต่งขึ้นในช่วงนี้เช่นเดียวกัน

ยุคศักดินา ญี่ปุ่น

ยุคศักดินาญี่ปุ่น เริ่มต้นจากการที่ผู้ปกครองทางการทหารเริ่มมีอำนาจขึ้น พ.ศ. 1728 หลังจากการพ่ายแพ้ของตระกูลไทระ มินะโมะโตะ โนะ โยะริโตะโมะ ได้แต่งตั้งตนเองเป็นโชกุน และสร้างรัฐบาลทหารในเมืองคะมะกุระ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของยุคคะมะกุระซึ่งมีการปกครองแบบศักดินา แต่รัฐบาลคะมะกุระก็ไม่สามารถปกครองทั้งประเทศได้ เพราะพวกราชวงศ์ยังคงมีอำนาจอยู่ในภาคตะวันตก หลังจากการเสียชีวิตของโชกุนโยะริโตโมะ ตระกูลโฮโจได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้สำเร็จราชการให้โชกุน รัฐบาลคะมะกุระสามารถต่อต้านการรุกรานของจักรวรรดิมองโกลใน พ.ศ. 1817 และ พ.ศ. 1824 โดยได้รับความช่วยเหลือจากพายุคะมิกะเซะซึ่งทำให้กองทัพมองโกลประสบความเสียหายอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลคะมะกุระก็อ่อนแอลงจากสงครามครั้งนี้ จนในที่สุดต้องสูญเสียอำนาจให้แก่จักรพรรดิโกะ-ไดโงะ ผู้ซึ่งพ่ายแพ้ต่ออะชิกะงะ ทะกะอุจิในเวลาต่อมาไม่นาน อะชิกะงะ ทะกะอุจิย้ายรัฐบาลไปตั้งไว้ที่มุโระมะชิ (เคียวโตะ) จึงได้ชื่อว่ายุคมุโระมะชิ ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 20 อำนาจของโชกุนเริ่มเสื่อมลงและเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น เพราะบรรดาเจ้าแคว้นต่างทำสู้รบเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคสงครามที่เรียกว่ายุคเซ็งโงะกุ

ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 21 มีพ่อค้าและมิชชันนารีจากโปรตุเกสเดินทางมาถึงญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก และเริ่มการค้าขายและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างญี่ปุ่นกับโลกตะวันตก (การค้านัมบัน)

สงครามดำรงอยู่หลายสิบปี จนโอะดะ โนะบุนะงะเอาชนะเจ้าครองแคว้นอื่นหลายคนโดยใช้เทคโนโลยีและอาวุธของยุโรปและเกือบจะรวมประเทศญี่ปุ่นให้เป็นปึกแผ่นได้แล้วเมื่อเขาถูกลอบสังหารใน พ.ศ. 2125 โทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะชิผู้สืบทอดเจตนารมณ์ต่อมาสามารถปราบปรามบ้านเมืองให้สงบลงได้ใน พ.ศ. 2133 ฮิเดะโยะชิรุกรานคาบสมุทรเกาหลีถึง 2 ครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนเมื่อเขาเสียชีวิตลงใน พ.ศ. 2141 ญี่ปุ่นก็ถอนทัพ

หลังจากฮิเดะโยะชิถึงแก่อสัญกรรม โทะกุงะวะ อิเอะยะซุ ตั้งตนเองขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนบุตรชายของฮิเดะโยะชิ โทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะริ เพื่อที่จะได้อำนาจทางการเมืองและการทหาร อิเอะยะซุเอาชนะไดเมียวต่าง ๆ ได้ในยุทธการเซะกิงะฮะระใน พ.ศ. 2143 จึงขึ้นเป็นโชกุนใน พ.ศ. 2146 และก่อตั้งรัฐบาลใหม่ที่นครเอะโดะ ยุคเอะโดะจึงเริ่มต้นขึ้น รัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะได้ใช้วิธีหลายอย่าง เช่น บุเกโชฮัตโต เพื่อควบคุมไดเมียวทั้งหลาย ใน พ.ศ. 2182 รัฐบาลเริ่มนโยบายปิดประเทศและใช้นโยบายนี้อย่างไม่เข้มงวดนักต่อเนื่องถึงประมาณสองร้อยห้าสิบปี ในระหว่างนี้ ญี่ปุ่นศึกษาเทคโนโลยีตะวันตกผ่านการติดต่อกับชาวดัตช์ที่สามารถเข้ามาที่เกาะเดจิมะ (ในเมืองนะงะซะกิ) เท่านั้น ความสงบสุขจากการปิดประเทศเป็นเวลานานทำให้ชนที่อยู่ใต้อำนาจปกครองอย่างเช่นชาวเมืองได้มีโอกาสที่จะประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาในทางของตนเอง ในยุคเอะโดะนี้ยังมีการเริ่มต้นการให้ศึกษาประชาชนเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

แต่ญี่ปุ่นก็ถูกกดดันจากประเทศตะวันตกให้เปิดประเทศอีกครั้ง ในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2397 พลเรือจัตวา แมทธิว ซี. เพอร์รี และกองเรือดำของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาบุกมาถึงญี่ปุ่นเพื่อบังคับให้เปิดประเทศด้วยสนธิสัญญาสัมพันธไมตรีกับประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นญี่ปุ่นก็ต้องทำสนธิสัญญาแบบเดียวกันกับประเทศตะวันตกอื่น ๆ ซึ่งสนธิสัญญาเหล่านี้ทำให้ญี่ปุ่นประสบปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง เพราะการเปิดประเทศและให้สิทธิพิเศษกับชาวต่างชาติทำให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากไม่พอใจต่อรัฐบาลเอะโดะ และเกิดกระแสเรียกร้องให้คืนอำนาจอธิปไตยแก่องค์จักรพรรดิ (ซึ่งมักเรียกว่าการปฏิรูปเมจิ)  จนในที่สุดรัฐบาลเอะโดะก็หมดอำนาจลง

ยุคใหม่ ญี่ปุ่น

ในยุคเมจิ รัฐบาลใหม่ภายใต้การปกครองของสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิได้ย้ายฐานอำนาจขององค์จักรพรรดิมายังเอะโดะ และเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงจากเอะโดะเป็นโตเกียว มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองตามแบบตะวันตก เช่นบังคับใช้รัฐธรรมนูญใน พ.ศ. 2443 และก่อตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยใช้ระบบสองสภา นอกจากนี้ จักรวรรดิญี่ปุ่นยังสนับสนุนการรับเอาวิทยาการจากประเทศตะวันตกและทำให้มีความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก จักรวรรดิญี่ปุ่นเริ่มมีความขัดแย้งทางทหารกับประเทศข้างเคียงเมื่อพยายามขยายอาณาเขต หลังจากที่ได้ชัยชนะในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง (พ.ศ. 2437-2438) และสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (พ.ศ. 2447-2448) ญี่ปุ่นก็ได้อำนาจปกครองไต้หวัน เกาหลี และตอนใต้ของเกาะซาคาลิน

สงครามโลกครั้งที่หนึ่งทำให้ญี่ปุ่นซึ่งอยู่ฝ่ายไตรภาคี ผู้ชนะ สามารถขยายอำนาจและอาณาเขตต่อไปอีก ญี่ปุ่นดำเนินนโยบายขยายดินแดนต่อไปโดยการครอบครองแมนจูเรียใน พ.ศ. 2474 และเมื่อถูกนานาชาติประณามในการครอบครองดินแดนนี้ ญี่ปุ่นก็ลาออกจากสันนิบาตชาติในสองปีต่อมา ในปี 1936 ญี่ปุ่นลงนามในสนธิสัญญาต่อต้านองค์การคอมมิวนิสต์สากลกับนาซีเยอรมนี และเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะในปี 1941
ในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นได้เสริมสร้างอำนาจทางการทหารให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น หลังจากญี่ปุ่นถูกกีดกันทางการค้าจากสหรัฐอเมริกา ต่อมาจึงได้เปิดฉากสงครามในแถบเอเชียแปซิฟิก (ซึ่งรู้จักกันทั่วไปในชื่อ สงครามมหาเอเชียบูรพา) ในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484 โดยการโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐอเมริกาที่อ่าวเพิร์ล และการยาตราทัพเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นดินแดนอาณานิคมของสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและเนเธอร์แลนด์ ตลอดสงครามครั้งนั้น ญี่ปุ่นสามารถยึดครองประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ทั้งหมด แต่หลังจากที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ให้แก่สหรัฐอเมริกาในการรบทางน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกหลังจากยุทธนาวีแห่งมิดเวย์ (พ.ศ. 2485) ญี่ปุ่นก็ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ยังไม่ยอมแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรโดยง่าย เมื่อต้องเผชิญหน้ากับระเบิดปรมาณูของสหรัฐอเมริกา ซึ่งถูกทิ้งที่เมืองฮิโรชิมาและนะงะซะกิ (ในวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ตามลำดับ) และการรุกรานของสหภาพโซเวียต (วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2488) ญี่ปุ่นจึงประกาศยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขในวันที่ 15 สิงหาคม ปีเดียวกัน สงครามทำให้ญี่ปุ่นต้องสูญเสียพลเมืองนับล้านคนและทำให้อุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเสียหายอย่างหนัก ฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาได้ส่งพลเอกดักลาส แมกอาร์เธอร์เข้ามาควบคุมญี่ปุ่นตั้งแต่หลังสงครามจบ

ใน พ.ศ. 2490 ญี่ปุ่นเริ่มใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งเน้นเรื่องประชาธิปไตยอิสระ การควบคุมญี่ปุ่นของฝ่ายสัมพันธมิตรสิ้นสุดเมื่อมีการลงนามในสนธิสัญญาซานฟรานซิสโกใน พ.ศ. 2499 และญี่ปุ่นได้เป็นสมาชิกสหประชาชาติในปี 1956(พ.ศ. 2499) หลังจากสงครามญี่ปุ่นสามารถพัฒนาทางเศรษฐกิจด้วยอัตราการเจริญเติบโตที่สูงมากจนกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก แต่การเติบโตก็หยุดในช่วงพุทธทศวรรษที่ 2530 เมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังฟองสบู่แตก เศรษฐกิจที่ถดถอยต่อเนื่องยาวนานกว่าสิบปีมีทีท่าว่าจะฟื้นตัวขึ้นในต้นพุทธศตวรรษที่ 26 แต่กลับประสบปัญหาอีกครั้งเมื่อเกิดวิกฤติทางการเงินใน พ.ศ. 2551

ภูมิศาสตร์ ญี่ปุ่น

ภูมิศาสตร์ ภูมิภาค จังหวัด ประเทศ ญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่นมีลักษณะเป็นหมู่เกาะซึ่งมีจำนวนมากกว่า 3,000 เกาะวางตัวอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันออกของทวีปเอเชีย เกาะที่สำคัญเรียงจากเหนือไปใต้ได้แก่ฮกไกโด ฮนชู ชิโกกุ และคีวชู นอกจากนี้ยังมีหมู่เกาะริวกิวทางตอนใต้ของเกาะคีวชู ซึ่งเกาะทั้งหมดนี้เรียกรวมกันว่าหมู่เกาะญี่ปุ่น ญี่ปุ่นถูกล้อมรอบด้วยทะเลทุกด้าน ได้แก่ทะเลโอค็อตสค์ทางเหนือ ทะเลญี่ปุ่นทางตะวันตก ทะเลจีนตะวันออกทางตะวันตกเฉียงใต้ ทะเลฟิลิปปินส์ทางใต้ และมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันออก พื้นที่ประมาณร้อยละ 70 เป็นภูเขา ซึ่งไม่สามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือทำการเพาะปลูกได้ เพราะมีลักษณะสูงชันและมีโอกาสที่จะเกิดดินถล่มจากแผ่นดินไหวหรือฝนที่ตกหนัก ประชากรญี่ปุ่นส่วนใหญ่จึงต้องอาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งอย่างหนาแน่น และทำให้เมืองสำคัญในญี่ปุ่นมีประชากรหนาแน่นมาก ใน พ.ศ. 2548 ญี่ปุ่นมีป่าไม้ร้อยละ 66.4 พื้นที่ทางการเกษตรร้อยละ 12.6 อาคารร้อยละ 4.9 พื้นน้ำร้อยละ 3.5 ถนนร้อยละ 3.5 และอื่น ๆ ร้อยละ 9

ประเทศญี่ปุ่นตั้งอยู่ในวงแหวนแห่งไฟ บริเวณรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลก 3 แผ่น ทำให้เกิดแผ่นดินไหวความรุนแรงต่ำบ่อย ๆ  และยังมีแผ่นดินไหวความรุนแรงสูงที่ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงหลายครั้งในศตวรรษที่ผ่านมา เช่นเหตุการณ์แผ่นดินไหวในชูเอะสึ พ.ศ. 2547 และ แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮะกุ พ.ศ. 2554 เป็นต้น นอกจากนี้ การที่ญี่ปุ่นตั้งอยู่ในบริเวณวงแหวนแห่งไฟ ยังทำให้ญี่ปุ่นมีบ่อน้ำพุร้อนจำนวนมากทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกพัฒนาให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ภูเขาฟูจิซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในญี่ปุ่นก็เป็นภูเขาไฟ

หมู่เกาะญี่ปุ่นวางตัวยาวในแนวเหนือใต้ จึงทำให้มีลักษณะภูมิอากาศแตกต่างกันมาก ประเทศญี่ปุ่นสามารถแบ่งเขตภูมิอากาศออกเป็น 6 เขต คือ

  • ฮกไกโด: พื้นที่ตอนเหนือสุดของประเทศมีสภาพอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี แม้จะมีหยาดน้ำฟ้าไม่มาก แต่ในฤดูหนาวก็มีหิมะปกคลุมทั่วทั้งเกาะ
  • ทะเลญี่ปุ่น: ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลทางตะวันตกของเกาะฮนชู ลมตะวันตกเฉียงเหนือที่พัดผ่านในช่วงฤดูหนาวทำให้มีหิมะตกมาก ในช่วงฤดูร้อนอากาศมักจะเย็นกว่าฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก แม้ว่าบางครั้งจะเกิดปรากฏการณ์เฟห์นที่ทำให้อากาศร้อนมากผิดปกติ
  • ที่สูงตอนกลาง: อุณหภูมิระหว่างฤดูร้อนและฤดูหนาวและระหว่างกลางวันและกลางคืนมีความแตกต่างมาก
  • ทะเลเซะโตะ: ภูเขาบริเวณชูโงะกุและชิโกะกุช่วยป้องกันบริเวณทะเลเซะโตะจากลมฤดูต่าง ๆ ทำให้บริเวณนี้มีอากาศอบอุ่นและมีฝนตกน้อยตลอดทั้งปี
  • ชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก: ตั้งอยู่ชายฝั่งมหาสมุทรทางตะวันออกของประเทศ ในฤดูหนาวมีอากาศที่หนาวเย็นแต่ไม่ค่อยมีหิมะตก ในฤดูร้อนมีอากาศร้อนและชื้นเพราะลมตะวันออกเฉียงใต้
  • หมู่เกาะตะวันตกเฉียงใต้: หมู่เกาะริวกิวมีอุณหภูมิกึ่งเขตร้อน คืออากาศอุ่นในฤดูหนาวและร้อนในฤดูร้อน มีฝนตกมากและมีไต้ฝุ่นผ่านมาในช่วงเปลี่ยนฤดู

ฤดูฝนหลักเริ่มต้นขึ้นในต้นเดือนพฤษภาคมที่โอะกินะวะ และจึงค่อย ๆ ไต่ขึ้นไปจนถึงฮกไกโดในปลายเดือนกรกฎาคม บนเกาะฮนชูฤดูฝนจะเริ่มในกลางเดือนของเดือนมิถุนายน มีระยะเวลาประมาณเดือนครึ่ง และในช่วงปลายฤดูร้อนจนถึงต้นฤดูใบไม้ร่วงมักมีไต้ฝุ่นพัดผ่าน โดยเฉลี่ยจะมีไต้ฝุ่นพัดเข้าใกล้ญี่ปุ่นปีละ 11 ลูก

แนะนำเมืองน่าเที่ยวใน ญี่ปุ่น

โตเกียว (Tokyo)

แผนที่

จุดหมายยอดฮิตที่ติดท็อปรีวิวเที่ยวญี่ปุ่นเสมอมา เมืองนี้ได้ฉายาว่า “อีสต์ มีท เวสต์” (East meets West) หมายถึง การมาบรรจบกันของวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออก เพราะนอกจากคุณจะได้ชมบ้านเมืองที่ยังคงด้วยวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่นแล้ว คุณก็ยังจะได้สัมผัสเทคโนโลยีล่าสุดของโลก และแฟชั่นแบบตะวันตกในสไตล์ญี่ปุ่น ฮาราจุกุในโตเกียวก็เปรียบได้กับถนนเมดิสัน (Madison Avenue) แห่งมหานครนิวยอร์ค (New York) นั่นเอง จัดเป็นสุดยอดสถานที่เที่ยวญี่ปุ่นด้านช้อปปิ้งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวเอเชียรวมทั้งไทยเราเป็นจำนวนล้นหลามทีเดียว

ไปเที่ยวโตเกียวช่วงไหนดี?

เที่ยวได้ตลอดปี ฤดูชมซากุระเมืองนี้จะอยู่ราวกลางเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายน และช่วงชมใบไม้เปลี่ยนสีจะอยู่ราวเดือนพฤศจิกายน

เกียวโต (Kyoto) ใกล้กับโอซาก้า (Osaka)

แผนที่

เมืองเก่าแก่อนุรักษ์ไว้อย่างดีเยี่ยม เมืองยอดฮิตอีกแห่งของแดนซากุระ สำหรับคนที่ชื่นชมศิลปวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่น ทั้งวัดโบราณที่ทำให้คุณเหมือนได้ย้อนเวลากลับไปเมื่อเกือบพันปีก่อนในย่างก้าวแรกที่เดินเข้าไป และเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจเลยหากคุณจะเดินสวนกับเกอิชาในชุดกิโมโนบนถนนใจกลางเมือง และการเข้าร่วมพิธีชงชาญี่ปุ่นแบบโบราณ ก็เป็นประสบการณ์ที่ไม่น่าพลาดสำหรับการไปเยือนเกียวโต

ไปเที่ยวเกียวโตช่วงไหนดี?

ช่วงเวลาที่น่าไปเที่ยวมากที่สุด คือ ฤดูใบไม้ผลิราวเดือนมีนาคมและฤดูใบไม้ร่วงราวเดือนตุลาคม ทั้งนี้ในช่วงเดือนเมษายนก็จะเป็นช่วงเทศกาลใหญ่ประจำปี เทศกาลมิยาโกะ (Miyako Odori)

 

โอซาก้า (Osaka)

แผนที่

เมืองที่ใหญ่อันดับสองของประเทศ มีสนามบินนานาชาติ ที่เราคนไทยสามารถเดินทางโดยสารเครื่องบิน เดินทางโดยตรงเลยสะดวกดีไหมละครับ ซึ่งถือว่าเป็นเมืองคู่เอก กับ โตเกียวเลยทีเดียว นอกจากจะเป็นเมืองธุรกิจสำคัญของประเทศแล้ว ยังขึ้นชื่อด้านอาหารในราคาย่อมเยา เพราะไม่ว่าจะมุมไหนของเมือง คุณก็สามารถหาร้านอาหารรสชาติเป็นเลิศ แต่ราคาสบายกระเป๋าได้ไม่ยาก นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำไคยูคัง (Kaiyukan) ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ปราสาทโอซาก้า (Osaka Castle) ยูนิเวิร์ลซัล สตูดิโอ (Universal Studio) แห่งญี่ปุ่น และสวนลอยน้ำ (Floating Garden Observatory)

ไปเที่ยวโอซาก้าช่วงไหนดี?

เที่ยวได้ตลอดปี ฤดูชมซากุระเมืองนี้จะอยู่ราวกลางเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายน

 

ฟุกุโอกะ (Fukuoka)

แผนที่

อีกเมืองหลักของมิตรรักนักชิมและคนรักอาหารทะเล นอกจากนี้ยังเป็นบ้านเกิดของบะหมี่ราเม็งอันลือชื่อของญี่ปุ่น ฉะนั้นรับรองว่าหากไปเยือนฟุกุโอกะ คุณจะไม่มีทางพลาดการชิมราเม็ง เพราะร้านบะหมี่ข้างทางถือเป็นร้านอาหารยอดนิยม ไม่ต่างจากรถขายไส้กรอกในอเมริกา หรือแผงขายส้มตำบ้านเรา นอกจากนี้ยังเป็นเมืองที่มีคุณภาพการใช้ชีวิตสูง ถึงกับได้ฉายาว่าเป็นเมืองที่รีเล็กซ์ (Relax) หรือเครียดน้อยที่สุดในญี่ปุ่นเลยทีเดียว

ไปเที่ยวช่วงไหนดี ฤดูกาลท่องเที่ยวยอดนิยมจะอยู่ราวเดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนพฤษภาคม โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลโกลเด้นวีค (Golden week) และในช่วงเดือนกันยายน-เดือนตุลาคมก็เป็นช่วงที่อากาศกำลังสบายน่าไปเที่ยวอีกช่วงหนึ่ง

นารา (Nara)

แผนที่

เมืองนาราหรือเมืองแห่งกวาง ทุกหนแห่งที่คุณเดินทางไปเที่ยว คุณจะพบเห็นกลุ่มกวางอันเป็นมิตรกับผู้คน นอกจากนี้นารายังถือเป็นแหล่งกำเนิดของขนบธรรมเนียมสำคัญๆ ของชาวญี่ปุ่น เมืองนารานี้มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มากมาย เช่น พระพุทธรูปไดบุทสึ (Daibutsuden) ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหล่อที่ใหญ่ที่สุดของโลก วัดโฮริวจิ (Horyu-ji Temple) ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างที่ทำด้วยไม้ที่เก่าแก่ที่สุดของโลกและได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเช่นเดียวกับวัดโทไดจิ (Todaiji Temple) วัดเก่าแก่ที่สุดของเมือง

ไปเที่ยวนาราช่วงไหนดี?

เที่ยวได้ตลอดปี ฤดูชมซากุระเมืองนี้จะอยู่ราวกลางเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายน และช่วงใบไม้เปลี่ยนสีตั้งแต่ราวเดือนตุลาคม-ต้นเดือนธันวาคม

 

เฮียวโงะ (Hyogo) ใกล้กับโกเบ (Kobe) และโอซาก้า (Osaka)

แผนที่

เมืองเฮียวโงะตั้งอยู่ไม่ไกลจากเมืองเกียวโตและโอซาก้า เป็นที่ตั้งของปราสาทฮิเมจิ (Himeji Castle) ที่งดงามที่สุดของประเทศและได้รับการยกให้เป็นเขตมรดกโลกจากยูเนสโก (UNESCO) และถัดจากปราสาทก็เป็นสวนสาธารณะกว้างกว่า 33,000 ตรม. เป็นจุดชมดอกซากุระยอดนิยม จนถึงขั้นจัดเป็นงานประเพณีขึ้นทุกปีในช่วงฤดูใบไม้ผลิชื่อว่า “เทศกาลชมดอกซะกุระยามราตรี” (Himeji Hana Akari Night View of Cherry Blossom Festival)

ไปเที่ยวเฮียวโงะช่วงไหนดี?

ฤดูกาลท่องเที่ยวที่คึกคักที่สุดจะอยู่ในช่วงชมดอกไม้บานในราวกลางเดือน-ปลายเดือนมีนาคม

 

คารุอิซาวะ-มาชิ (Karuizawa – machi) ใกล้กับโตเกียว (Tokyo)

แผนที่

เมืองนี้จะเป็นสวรรค์ของคนรักป่าเขาลำเนาไพร ไม่ว่าจะเป็นน้ำตก บ่อน้ำพุร้อน ภูเขา เมืองธรรมชาติแห่งนี้มีทุกอย่างสำหรับนักธรรมชาตินิยม แต่ไม่ต้องห่วงสำหรับคนที่อยากจะชมทั้งธรรมชาติและช้อปปิ้งในทริปเที่ยวญี่ปุ่นทริปเดียว เพราะเขตช้อปปิ้งคารุอิซาวะกินซ่า (Karuizawa Ginza) นั้นเป็นแหล่งจับจ่ายชั้นดีที่จะให้คุณเพลิดเพลินได้ตลอดวัน

ไปเที่ยวคารุอิซาวะ-มาชิช่วงไหนดี?

สามารถเที่ยวได้ทั้งปีแต่จะเป็นที่นิยมมากในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนกลางปี

 

ฮากุบะ-มุระ (Hakuba – mura) ใกล้กับมัสซูโมโต้ (Matsumoto)

แผนที่

เมืองเล็กๆ ในจังหวัดนากาโน่ (Nagano) นี้ อาจไม่เป็นที่รู้จักกันมากนักสำหรับคนไทย แต่เป็นแหล่งสกีอันลือชื่อของประเทศญี่ปุ่น ตั้งอยู่ใจกลางภูเขาฮากุบะ (Hakuba) ซึ่งเปรียบได้กับเทือกเขาแอลป์ (Alps) ของญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอาบน้ำแร่ แช่น้ำพุร้อน ยอดนิยมอีกแห่งหนึ่งของประเทศด้วย

ไปเที่ยวฮากุบะ-มุระช่วงไหนดี?

เหมาะแก่การไปเยือนในช่วงฤดูหนาว (เดือนธันวาคม-เดือนกุมภาพันธ์) และช่วงชมใบไม้เปลี่ยนสีจะอยู่ราวเดือนตุลาคม

 

ทาคายามะ (Takayama) หรือฮิดะ-ทาคายามะ (Hida-Takayama) ใกล้กับมัสซูโมโต้ (Matsumoto)

ทาคายามะ ญี่ปุ่น

แผนที่

เมืองท่องเที่ยวเมืองเล็กๆ ในจังหวัดกิฟุ (Gifu) ที่แม้จะเล็กแต่ก็เล็กพริกขี้หนู เมืองจิ๋วแต่แจ๋วเมืองนี้ขึ้นชื่อเรื่องหมู่บ้านชิราคาวะโกะ (Shirakawago) หมู่บ้านมุงหลังคาฟางแบบโบราณที่ตั้งอยู่ชานเมืองท่ามกลางหุบเขา หมู่บ้านแห่งนี้ได้รับการจดทะเบียนเป็นมรดกโลกและมีหลายหลังที่เปิดเป็นที่พักให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสภูมิปัญญาคนโบราณที่สร้างบ้านให้ทนทานทุกสภาพอากาศและยืนหยัดมาหลายศตวรรษ นอกจากหมู่บ้านแห่งนี้แล้วก็ยังมีที่เที่ยวอื่นที่น่าสนใจ เช่น ตึกที่ว่าการเมืองสมัยโชกุน ทาคายามะ จินยะ (Takayama Jinya) เขตเมืองเก่าซันมาชิ (Sanmachi) พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งฮิดะ (Hida Folk Museum) หรือมินโซกุ-กัง (Minzoku-kan) และพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์โทมิโนะซุเกะ (Tomenosuke)

ไปเที่ยวทาคายามะช่วงไหนดี?

เมืองนี้เที่ยวได้ทั้งปี เพราะในช่วงหน้าหนาวจะเป็นที่นิยมในการไปนอนผิงไฟบ้านโบราณและเล่นสกี ในฤดูใบไม้ผลิ-ร้อนก็เป็นช่วงชมดอกไม้บานและเที่ยวป่าเขา รวมไปถึงเทศกาลดอกไม้ไฟอันยิ่งใหญ่ในราวเดือนกรกฎาคมของทุกปี ในขณะที่ใบไม้เปลี่ยนสี (เดือนตุลาคม) เมืองนี้ก็สวยไม่แพ้ที่ใดเช่นกัน

ซัปโปโร (Sapporo)

โอตารุ ฮอกไกโด ญี่ปุ่น

แผนที่

เกาะเหนือของญี่ปุ่น ที่คนนิยมท่องเที่ยวมากจริงๆ ตลอดทั้งปี ทั้งหน้าหนาว และหน้าร้อน เป็นแหล่งอาหารทะเลสดอร่อย บะหมี่ราเม็งเลิศรส และแหล่งผลิตเบียร์ขึ้นชื่อ ในช่วงฤดูหนาวของทุกปีก็จะการจัดงานเทศกาลคริสต์มาสสไตล์เยอรมันที่สวนโอโดริ (German Christmas Market at Odori Park) งานประดับไฟหน้าหนาว (Sapporo White Illumination) และตามมาด้วยเทศกาลหิมะและน้ำแข็งแกะสลักแห่งซัปโปโร (Sapporo Snow Festival) ในช่วงต้นปี ส่วนที่เที่ยวก็มีมากมาย เช่น โรงเบียร์ซัปโปโร (Sapporo Beer Museum) สวนกลางเมืองโอโดริ (Odori Park) หอนาฬิกาเก่าประจำเมือง (Tokeidai) ตึกที่ทำการเก่าแก่ของฮอกไกโด (Hokkaido Government Building) ย่านบันเทิงซูซูกิโนะ (Susukino) ศาลเจ้าฮอกไกโด (Hokkaido Shrine) สวนสัตว์มะรุยะมะ (Maruyama Zoo) และภูเขาโมอิวะ (Mt. Moiwa) เป็นต้น

ไปเที่ยวซัปโปโรช่วงไหนดี?

เที่ยวได้ทั้งปีเพราะมีที่เที่ยวหลากหลาย ทั้งนี้ในช่วงฤดูหนาว (เดือนธันวาคม-เดือนกุมภาพันธ์) จะมีเทศกาลฤดูหนาวหลายงานที่เป็นที่นิยม

การเตรียมตัวเดินทางสู่ประเทศ ญี่ปุ่น

ฤดูกาลและสภาพอากาศ

ญี่ปุ่นสามารถไปเที่ยวได้ทั้งปี เพราะในแต่ละช่วงก็มีธรรมชาติที่สวยงามและงานเทศกาลที่น่าสนใจแตกต่างกันไป ทั้งนี้ญี่ปุ่นมี 4 ฤดูกาล คือ

  1. ฤดูใบไม้ผลิ ระหว่างเดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม
  2. ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมิถุนายน-เดือนสิงหาคม
  3. ฤดูใบไม้ร่วง ระหว่างเดือนกันยายน-เดือนพฤศจิกายน
  4. ฤดูหนาว ระหว่างเดือนธันวาคม-เดือนกุมภาพันธ์

การเดินทางไปญี่ปุ่น

มีบริการเที่ยวบินตรงไปยังสนามบินในเมืองสำคัญต่างๆ ของญี่ปุ่นหลายเมือง เช่น โอซาก้า โตเกียว ฟุกุโอกะ ซัปโปโรและนาโงย่า เป็นต้น

การเดินทางในญี่ปุ่น มีบริการทั้งเที่ยวบินภายในประเทศ รถบัสโดยสาร รถไฟใต้ดินและบนดิน เรือเฟอร์รี่ รถแท็กซี่ รถไฟความเร็วสูงข้ามเมือง และบริการรถเช่าในเมืองต่างๆ ทำให้ไปญี่ปุ่นเองและเที่ยวเองได้ไม่ยาก

โรงแรมที่พักในญี่ปุ่น ที่พักในญี่ปุ่นมีหลายแบบ ในเมืองใหญ่ๆ จะมีตัวเลือกมากกว่าเมืองเล็กๆ ทั้งนี้ที่พักมีตั้งแต่รีสอร์ท โรงแรม เกสต์เฮ้าส์ อินส์-เรียวกัง (Japanese Inns or Ryokan) โรงแรมแคปซูล (Capsule Hotel) และที่พักแนวประหยัดต่างๆ ที่เป็นที่นิยมค่อนข้างมาก